รัสเซีย ยูเครน : ทำไมพ่อแม่ชาวยูเครนส่งลูกไปค่ายฤดูร้อนในรัสเซีย

รัสเซีย ยูเครน

รัสเซีย ยูเครน : ทำไมพ่อแม่ชาวยูเครนส่งลูกไปค่ายฤดูร้อนในรัสเซีย

หลายครอบครัวในเมืองบาลาคลิยาเผชิญความเสี่ยงตลอดช่วงการยึดครองของรัสเซีย และการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการควบคุมภูมิภาคตะวันออกของยูเครน

รัสเซีย ยูเครน

แม่คนหนึ่งเล่าว่า มีการระดมยิงเกิดขึ้นตลอดช่วงฤดูร้อน “มีหลายช่วงที่มีการยิงกันทุกวัน 24 ชั่วโมงต่อวัน”

“บ้านทั้งหลังสั่นสะเทือน เพดานในทุกห้องแตกร้าว”

หลังจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. รัสเซียได้ระดมยิงโจมตี ส่งทหารและรถถังเข้ามา และนำไปสู่การยึดครองเมืองบาลาคลิยาได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

เจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า ประชากรหลายพันคนจาก 27,000 คน หลบหนีออกจากเมือง

ส่วนที่เหลือก็อยู่ต่อเพราะไม่มีทางไป หรือบางส่วนก็จะเดินทางออกไปทีหลัง

บีบีซีเคยรายงานเกี่ยวกับกองทัพรัสเซียสร้างห้องทรมานขึ้น ในช่วงที่ยึดครอง ขณะที่พวกเขาพยายามที่จะจำกัดการช่วยเหลือยูเครน

ในเดือน ส.ค. เจ้าหน้าที่ทางการที่ยึดครองอยู่ได้เสนอหนทางในการหลบเลี่ยงการสู้รบสำหรับเด็ก ๆ ในพื้นที่

พวกเขาบอกว่า พวกเขาจะจ่ายเงินให้เด็ก ๆ เดินทางไปที่ค่ายฤดูร้อนเมดเวโชนอก (แปลว่า “หมีน้อย” ในภาษารัสเซีย) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ที่เจเลนด์ชิก เมืองตากอากาศในทะเลดำ

พ่อแม่ต้องเลือกว่า จะให้ลูกอยู่ที่แนวหน้าของการสู้รบต่อไป หรือส่งพวกเขาไปยังดินแดนของผู้ที่เข้ามายึดครอง

เด็กมากกว่า 500 คน จากบาลาคลิยา และหลายส่วนของภูมิภาคได้เดินทางไปเข้าค่ายดังกล่าวในเดือน ส.ค.

การปลดปล่อยกลายเป็นความกังวล
ในเดือน ก.ย. ยูเครน เปิดฉากบุกโต้กลับและปลดปล่อยภูมิภาคคาร์คิฟได้เกือบทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่วัน รวมถึงเมืองบาลาคลิยาด้วย

กระทรวงกลาโหมของยูเครนได้เผยแพร่คลิปภาพที่ชาวเมืองที่ออกมาแสดงความดีใจ แต่การปลดปล่อยเมืองได้อย่างรวดเร็วนี้ก็ทำให้บรรดาพ่อแม่กังวลใจ

การที่พรมแดนของดินแดนที่รัสเซียยึดครองอยู่ได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาจะพาลูก ๆ กลับมาได้อย่างไร

“เรากังวลมาก ตอนที่ทหารยูเครนเข้ามาในเมือง เราตระหนักดีว่า มันจะเป็นเรื่องยากในการพาตัวลูกกลับมา” นาตาเลีย ซอนกินา ซึ่งได้ส่งลูกสาววัย 12 ขวบไปเข้าค่ายนี้กล่าว

ไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการยูเครนหรือรัสเซียติดต่อพวกเขาเกี่ยวกับลูก และพวกเขารู้สึกได้

“เป็นไปไม่ได้ที่จะออกไป” อัลลา คาเมเนวา ซึ่งมีลูกสาววัย 11 ขวบไปเข้าค่ายกล่าว

“คนบางส่วนเห็นใจ แต่หลายคนก็เหยียดหยาม และตั้งคำถามว่า ส่งลูกไปรัสเซียได้อย่างไร”

นางคาเมเนวา กล่าวกับบีบีซีเพียงสั้น ๆ และไม่ยอมออกกล้อง

เธอกล่าวว่า นี่เป็นเพราะความเป็นปฏิปักษ์ที่เธอสัมผัสได้ในพื้นที่

ภูมิภาคคาร์คิฟ มีความเกี่ยวข้องกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดในทางประวัติศาสตร์ มีพรมแดนติดกัน มีการอพยพเข้ามาของคนรัสเซีย อิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองส่งผลต่อผู้คนหลายชั่วอายุคน มีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างแพร่หลาย

สงครามทำให้เกิดความอ่อนไหวต่อเรื่องความจงรักภักดี

นายกเทศมนตรีเมืองบาลาคลิยาที่เข้ากับฝ่ายรัสเซียตอนที่เริ่มยึดครอง ตอนนี้มีรายงานว่า เขาได้หนีไปอยู่รัสเซียแล้ว

ออกซานา บอนดาร์ เป็นนายกเทศมนตรีรักษาการของเมืองนี้

ในสำนักงานของเธอ เธอพลิกแผ่นรายชื่อของครอบครัวที่ส่งลูกหลานไปรัสเซียให้ดู

พวกเขามาจากเมืองบาลาคลิยา, อิซูม, คูเปียนสก์ และอีกหลายเมืองและหมู่บ้านในภูมิภาคคาร์คิฟ

นางบอนดาร์กล่าวว่า ตอนแรกเธอรู้สึกงงที่บรรดาพ่อแม่ “ส่งลูกหลานออกไป”

“พ่อแม่ควรจะคิดให้ดีอีกครั้งเกี่ยวกับการส่งลูก ๆ ไปยังประเทศที่มีความก้าวร้าว” เธอกล่าว

“คุณคงจะบ้าไปแล้วที่ส่งลูกไปที่นั่น คุณเป็นแม่แบบไหนกัน ถ้าคุณส่งลูกไปที่นั่นในช่วงสงคราม ไปยังประเทศที่อยากจะทำลายคุณ ส่วนตัวแล้วในฐานะแม่ ฉันไม่เข้าใจเรื่องนี้”

นายกเทศมนตรีรักษาการกล่าวว่า ชาวเมืองจำนวนมากต้อนรับผู้ที่เข้ามายึดครอง

“มีคนจำนวนมากที่ใฝ่ฝันถึง รุสกีย์ มีร์ (แปลว่า “โลกรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงการมีวัฒนธรรมและสังคมแบบรัสเซีย ตรงข้ามกับอายธรรมที่ยึดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง) พวกเขาร่วมมือกัน” นางบอนดาร์กล่าว

แต่เธอยอมรับว่า คนในพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากรัสเซีย

“มีการโฆษณาชวนเชื่อที่ดีมากที่นี่ว่า เด็ก ๆ จะได้พักผ่อนที่ค่าย” เธอกล่าว

“นั่นคือวิธีที่ฉันรักษาชีวิตลูก”
พ่อแม่หลายคนบ่นว่า ขณะที่กองทัพรัสเซียบุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว การเดินทางออกจากเมืองไปเป็นไปไม่ได้

“เราไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ไม่มีรถบัสขาออก (จากเมือง) ตอนที่รัสเซียเข้ามา” แอนนา ลาพินา คุณแม่ของซาชา ลูกชายวัย 14 ปี ซึ่งยังคงอยู่ที่ค่ายแห่งนั้นกล่าว

ส่วนหลายคนก็ไม่มีเงินใช้จ่ายสำหรับการหลบหนี

แอนนาร้องไห้ขณะเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ

“ช่วงเวลาครึ่งหนึ่งของหน้าร้อน ลูกสาวของฉันนอนอยู่ในห้องใต้ดิน” เธอกล่าว “คุณเชื่อไหม”

เธอบอกว่า การที่เธอส่งลูกชายไปเป็นการตัดสินใจที่ถูก

“ปล่อยให้พวกเขากล่าวหาฉันเถอะ ถ้าพวกเขาคิดว่า ฉันเป็นพวกสมรู้ร่วมคิด เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ปล่อยให้พวกเขาว่าฉัน แต่ฉันอยู่ในบ้านเกิดของฉัน และฉันจะไม่ไปไหน”

“ฉันคิดว่า การส่งลูกไปในช่วงการสู้รบฉันได้รักษาชีวิตของลูกไว้”

พ่อแม่ที่ไม่ได้มีรายได้มากก็ไม่มีเงินที่จะพาตัวลูกกลับมา

ในแต่ละวันพ่อแม่ได้พูดคุยกับลูก ๆ ผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น และเจ้าหน้าที่ค่ายก็บอกกับพวกเขาว่า มีแค่คนที่เป็นพ่อแม่เท่านั้นจึงจะมารับลูกได้

ไม่ทราบแน่ชัดว่า ในจำนวนเด็ก 500 คน ยังคงอยู่ในรัสเซียมากแค่ไหน มีการประเมินว่า อย่างน้อยน่าจะหลายสิบคน หรืออาจจะมากกว่านั้น

อิรีนา โมชาโรวา ผู้อำนวยการค่ายเมดเวโชนอก ไม่เต็มใจที่จะคุยเมื่อบีบีซีติดต่อเธอไป

“ทำไมฉันต้องพูดอะไรด้วย” เธอกล่าว “เด็ก ๆ ของฉันก็ไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนกัน ฉันไม่อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ๆ ออกไปสู่สาธารณะ”

แต่สื่อทางการรัสเซียมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องเด็ก ๆ เหล่านี้

รอสซิยา 24 สื่อทางการรัสเซียและเวสตี ทีวี ได้เผยภาพเด็ก ๆ กำลังสนุกสนานอยู่ในชั้นเรียนและเล่นกันอยู่ริมชายฝั่งทะเลดำ เวสตีรายงานว่า เด็ก ๆ ไม่อยากจะกลับ

พ่อแม่ทุกคนที่บีบีซีได้พูดคุยด้วย กล่าวว่า ลูก ๆ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

แอนนากล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกชายของเธอได้เห็นทะเล และเขาก็มีความสุขมาก

เธอติอต่อกับคนดูแลค่ายอยู่เสมอ

“ฉันบอกพวกเขาว่า ‘แค่อย่าพยายามสอนประวัติศาสตร์ให้เขา'” แอนนา กล่าว

เธอคิดว่า การได้ใช้ชีวิตผ่านช่วงสงราม ซาชาคงจะไม่เชื่อการบิดเบือนใด ๆ ของประวัติศาสตร์ยูเครน รัสเซีย และอดีตที่เกี่ยวพันกันของสองชาติ

เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียได้ย้ายเด็ก ๆ ไปอยู่อีกค่ายหนึ่งแล้วในเมืองอานาปาห่างจากชายฝั่งทะเลดำไปทางเหนือ ที่นั่นเหมาะสำหรับฤดูหนาวมากกว่า ผู้ว่าการภูมิภาคคราสโนดาร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองอานาปา กล่าวว่า เด็ก ๆ สามารถอยู่ที่นั่นได้ไม่จำกัดระยะเวลา

พ่อแม่ที่ตัดสินใจพาลูก ๆ กลับมาต้องเดินทางไกล เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นพวกเขาต้องเดินทางหลายพันกิโลเมตร ผ่านไปทางแถบบอลติก

“พวกเขาพยายามโน้มน้าวให้คุณอยู่ต่อ”
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซีย กำลังพยายามให้พ่อแม่ชาวยูเครนอาศัยอยู่ที่นั่น

คุณแม่คนหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าวกับบีบีซีจากประเทศโปแลนด์ ระหว่างเดินทางกลับบาลาคลิยาพร้อมกับลูกชายวัยรุ่นของเธอ

“เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียพยายามโน้มนาวให้คุณอยู่ต่อ พวกเขาบอกว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้ในยูเครน ลองคิดดู'”

“พวกเขารับปากว่า จะจัดหาบ้านพักให้ ช่วยเหลือทางการเงิน เอกสาร และอาหารฟรี”

และบางคนก็เต็มใจที่จะอยู่

คุณพ่อคนหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ เดินทางไปรับลูกสาว พวกเขายังอยู่ในรัสเซีย แต่เขาบอกว่า จนถึงช่วงที่รัฐบาลรัสเซียกลับไปยึดครองบาลาคลิยาได้อีกครั้งเท่านั้น

“เรากำลังรอคอยให้รัสเซียเข้ามาในบาลาคลิยา” เขากล่าว “และจากนั้น เราจะกลับไปทันที”

ออกซานา บอนดาร์ รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองบาลาคลิยา และพ่อแม่อีกหลายคนกล่าวว่า หลายสิบครอบครัวหนีเข้าไปในรัสเซีย ตอนที่กองทัพรัสเซียล่าถอยออกจากคาร์คิฟ

ข้อน่าสงสัยเหล่านี้ ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องการนำตัวลูกกลับมายังบาลาคลิยา

แอนนา คุณแม่ของซาชาวัย 14 ปี ไม่ต้องการที่จะไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ขณะที่เธอกลัวว่า กำลังถูกกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิด

เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว หน่วยพิเศษของยูเครนได้จัด “กิจกรรมแทรกซึม” ขนานใหญ่ต่อต้านผู้สมรู้ร่วมคิดในช่วงไม่กี่วันหลังจากที่มีการปลดปล่อยเมือง

แต่มีการควบคุมตัวคนเพียงไม่กี่คน โดยมีคนถูกควบคุมตัว 16 คน จากที่ถูกสอบสวนทั้งหมด 7,000 คน แต่รายงานข่าวในท้องถิ่นระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มเติมในช่วงหลายสัปดาห์ต่อมา

ในช่วงอากาศฤดูใบไม้ร่วงที่สดใส ที่จัตุรัสกลางเมืองบาลาคลิยา ชาวเมืองหลายร้อยคนได้ต่อแถวกันรับอาหาร พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากทางการยูเครนเพื่อเอาชีวิตรอด

สงครามนี้ทำให้หลายครอบครัวและชุมชนตามพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนหวาดวิตก

ชื่อบางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ